การคัดลอกทางวรรณกรรม (Plagiarism)

การคัดลอกทางวรรณกรรม (Plagiarism) : ความหมาย

1. การนำผลงานของคนอื่นมาเป็นผลงานตนเอง

2. การคัดลอกคำหรือความคิดจากคนอื่นมาใช้โดยไม่ได้อ้างอิง

3. การไม่ใส่เครื่องหมายคำพูดในส่วนของการคัดลอก

4. การให้สารสนเทศที่ไม่ถูกต้องในเครื่องหมายคำพูด

5. การเปลี่ยนคำ แต่คัดลอกโครงสร้างประโยคโดยไม่ได้อ้างอิง

6. การคัดลอกคำหรือความคิดจำนวนมากจากแหล่งหนึ่งมาเป็นผลงานส่วนใหญ่ของตนเอง แม้ว่าจะมีการอ้างอิงแต่ก็ยังถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

7. การได้ทุนวิจัยจากหน่วยงานหนึ่ง ใช้กลุ่มตัวอย่างหนึ่งในการทำวิจัยแต่ยังไม่เสร็จสิ้น แล้วไปขอทุนอีกแหล่งหนึ่งโดยปรับกลุ่มตัวอย่าง จากนั้นนำผลการวิจัยไปตีพิมพ์โดยไม่ได้อ้างอิงแหล่งที่มาของกลุ่มตัวอย่างแรก

สำหรับภาพ วีดิทัศน์ และเพลง

1.การคัดลอกภาพจากเว็บไซต์อื่นมาวางบนหน้าบทความหรือเว็บไซต์ตนเอง

2. การทำวีดิทัศน์โดยใช้ฟุตเทจจากวีดิทัศน์อื่น หรือการใช้เพลงที่มีลิขสิทธิ์เป็นส่วนของเพลงประกอบของตน

3. การเล่นเพลงที่มีลิขสิทธิ์ของอีกคน

4. การประพันธ์ส่วนหนึ่งของเพลงที่ยืมมาจากบทประพันธ์ของอีกคน

การป้องกัน

  • การนำความรู้และข้อมูลของผู้อื่นมาใช้อย่างถูกต้อง คือ ต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มา หรือควรเขียนบรรยายองค์ความรู้นั้นด้วยลีลาและสำนวนของตนเอง
  • การแปลจากภาษาต่างประเทศ กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองผู้เขียนบทความดั้งเดิมไว้ ดังนั้นจึงไม่สามารถแปลประโยคต่อประโยค โดยไม่ขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนได้ ถ้าในกรณีต้องการนำความรู้จากบทความต่างประเทศมาใช้ ต้องเรียบเรียงและนำเสนอองค์ความรู้นั้นด้วยสำนวนของตนเอง รวมทั้งอ้างอิงแหล่งที่มาขององค์ความรู้นั้นด้วย
  • การทำผลงานทางวิชาการ คือการทำผลงานให้เกิดสิ่งใหม่ ถึงแม้คนเรามีความคิดที่คล้ายกัน แต่ภาษาที่ใช้ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ควรทำความเข้าใจและเรียบเรียงใหม่โดยใช้ภาษาของเราเอง แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าความคิดหรือคำพูดที่ใช้ จะเป็นสิ่งที่เราคิดเองหรือไม่ ให้อ้างอิงไว้ก่อน
  • การนำภาษาอื่น คำแปล รูปภาพ แผนภูมิ ตาราง สุนทรพจน์ สำนวน มาใช้ ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้ง แม้ว่าเป็นของตนเอง
  • งานวิจัยเรื่องเดียวกัน แต่นำไปตีพิมพ์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษในวารสารต่างกัน ต้องแจ้งว่าจะมีการตีพิมพ์ในวารสารอีกฉบับ ทั้งนี้ถ้าตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษแล้วจะตีพิมพ์เป็นภาษาไทยอีก สามารถทำได้โดยขออนุญาตจากสำนักพิมพ์ก่อน พร้อมทั้งระบุให้ชัดเจนว่า งานชิ้นนี้ได้เคยตีพิมพ์แล้วเป็นภาษาอะไร ในวารสารใด
  • การอ้างคำพูด หรือการคัดลอกข้อความ โดยใส่เครื่องหมายคำพูดกำกับไว้ (Quoting)
  • การถอดความ (Paraphrasing) เป็นการปรับเปลี่ยนประโยค แต่ยังคงไว้ซึ่งแนวความคิดเดิม
  • การสรุปความ (Summarizing) เป็นการสรุปเนื้อหาด้วยสำนวนของตนเอง

การใช้โปรแกรมตรวจสอบการลอกทางวรรณกรรม

TurnItIn เป็นโปรแกรมตรวจสอบการลอกทางวรรณกรรม โดยแสดงผลการเทียบซ้ำที่นำเสนอในระดับร้อยละ พร้อมทั้งชี้แหล่งข้อมูลที่ซ้ำ โดยเฉพาะผลงานวิจัยของนิสิต ผลงานวิชาการของนักวิชาการ บนคลังข้อมูลของ TurnItIn   

ที่มา : https://hw5775.com/essay-tips/plagiarism